Plekhanov, Georgi Valentinovich (1856-1918)

นายเกออร์กี วาเลนติโนวิช เปลฮานอฟ (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๖๑)

เกออร์กี วาเลนติโนวิช เปลฮานอฟ เป็นนักปรัชญา สังคมและนักปฏิวัติชาวรัสเซียคนแรกที่ทำให้แนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในขบวนการปฏิวัติรัสเซีย เขาเคยร่วมในขบวนการ


รัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism)* หรือ นารอดนิค (Narodnik)* และใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์การปฏิวัติองค์การแรกขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) รัสเซีย โดยใช้ชื่อว่า กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ (Land and Liberty) เปลฮานอฟมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวจัดตั้งกรรมกรตามโรงงานใหญ่ ๆ และทำให้กลุ่มที่ดินและเสรีภาพขยายเครือข่ายไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๗๙ เปลฮานอฟซึ่งไม่เห็นด้วยกับนโยบายการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรงของกลุ่มที่ดินและเสรีภาพได้ถอนตัวออกจากกลุ่มและจัดตั้งกลุ่มเชียร์ นีเปเรดเยล (Cherny Peredyel) หรือกลุ่มแบ่งแยกดำ (Black Partition) ขึ้นกลุ่มดังกล่าวมีนโยบายเคลื่อนไหวอย่างสันติด้วยการปลุกระดมจัดตั้งกรรมกรและชาวนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปใน ค.ศ. ๑๘๘๐ รัฐบาลปราบปรามและกวาดล้างการเคลื่อนไหวปฏิวัติอย่างเด็ดขาด เปลฮานอฟจึงหนีไปอยู่ที่นครเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ และเริ่มศึกษาแนวความคิดลัทธิมากซ์ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในขบวนการ สังคมนิยมยุโรปในเวลานั้น ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ เขาร่วมกับปาเวล โบรีโซวิช อัคเซลรอด (Pavel Borisovich Akselrod)* จัดตั้งองค์การลัทธิมากซ์รัสเซียนอกประเทศขึ้นเป็นองค์การแรกโดยเรียกชื่อว่า กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน (Emancipation of Labour) กลุ่มดังกล่าวได้นำลัทธิมากซ์เข้ามาเผยแพร่ในรัสเซียซึ่งส่งผลสะเทือนต่ออุดมการณ์ปฏิวัติของปัญญาชนรัสเซียอย่างมากจนนำไปสู่การจัดตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เปลฮานอฟจึงได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของลัทธิมากซ์รัสเซีย” (Father of Russian Marxism)

 เปลฮานอฟเกิดในครอบครัวผู้ดีชนบทเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๖ ที่เมืองกูดาลอฟคา (Gudalovka) จังหวัดตัมบอฟ (Tambov) บิดาเป็นทหารที่จงรักภักดีต่อซาร์และเสียชีวิตในการรบ มารดาอบรมเลี้ยงดูเขาให้เป็นคนมีระเบียบวินัยและจงรักภักดีต่อซาร์ รวมทั้งยกย่องเคารพบุคคลที่เสียสละเพื่อชาติตั้งแต่เล็ก เปลฮานอฟสำเร็จการศึกษาระดับต้นที่โรงเรียนในบ้านเกิดและจากนั้นไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหารที่โวโรเนจ (Voronezh) ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ ขณะอายุ ๑๗ ปี เขาก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่หลังจากเรียนได้เพียงเทอมเดียวก็ลาออกเพราะปัญหาส่วนตัวและต้องการมีอาชีพเป็นวิศวกรเปลฮานอฟจึงย้ายไปเรียนที่สถาบันเหมืองแร่ (Mining Institute) ในช่วงที่เรียนอยู่เขามีโอกาสรู้จักและสนิทสนมกับเพื่อนนักศึกษาหัวรุนแรงซึ่งโน้มน้าวเขาให้ศรัทธาและเชื่อมั่นในแนวความคิดสังคมนิยมของอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* เปลฮานอฟจึงเข้าร่วมในขบวนการนารอดนิคและเลิกเรียนหนังสือโดยหันมาปลุกระดมจัดตั้งชาวนาเพื่อให้ลุกฮือก่อการปฏิวัติขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ เกิดทุพภิกขภัยและความอดอยากบริเวณแม่นํ้าดอน (Don) และวอลกา (Volga) ความเดือดร้อนดังกล่าวทำให้ปัญญาชนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมของเฮอร์เซนเดินทางออกสู่ชนบทเพื่อช่วยเหลือประชาชนและร่วมทุกข์ร่วมสุขตลอดจนเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมประมาณว่ามีปัญญาชนกว่า ๓,๐๐๐ คน ซึ่งรวมทั้งเปลฮานอฟด้วยลงสู่ชนบทและเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วันฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง” (mad summer days) เนื่องจากตำรวจได้ติดตามการเคลื่อนไหวของปัญญาชนเหล่านี้และเมื่อตรวจพบว่ามีการเผยแพร่เอกสารและหนังสือการเมืองและการปลุกระดมทางความคิดเกี่ยวกับสังคมนิยมและอื่น ๆ จึงปราบปรามและจับกุมปัญญาชนกว่า ๑,๕๐๐ คน ในจำนวนดังกล่าวมีโซเฟีย เปรอฟสกายา (Sophia Perovskaya)* รวมอยู่ด้วย การกวาดล้างที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๘๗๖ ทำให้กลุ่มแกนนำปัญญาชนต้องทบทวนแนวทางการเคลื่อนไหวและปรับโครงสร้างองค์กรการดำเนินงานใหม่รวมทั้งมุ่งจัดตั้งกรรมกรเฉพาะตามเมืองใหญ่ ๆ แทนการปลุกระดมชาวนาเนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในจารีตประเพณีและจงรักภักดีต่อซาร์ทั้งไม่ยอมรับแนวความคิดสังคมนิยม ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ เปลฮานอฟและแกนนำหลายคนที่เป็นอดีตนักโทษการเมืองซึ่งมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวใต้ดินจึงจัดตั้งองค์การที่อาจเรียกได้ว่าเป็นองค์การปฏิวัติแรกขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กโดยเรียกชื่อว่ากลุ่มที่ดินและเสรีภาพ

 กลุ่มที่ดินและเสรีภาพใช้ยุทธวิธีเคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อปลุกระดมมวลชนและขยายจำนวนสมาชิก มีการจัดตั้งโรงพิมพ์ใต้ดินเพื่อผลิตและเผยแพร่สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของกลุ่มรวมทั้งการจัดชุมนุมในที่สาธารณะตามโอกาสและเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย เปลฮานอฟเป็นนักพูดคนสำคัญที่สามารถโน้มน้าวปัญญาชนให้ยอมรับอุดมการณ์ของกลุ่มและยังสามารถจัดตั้งกรรมกรตามโรงงานใหญ่ ๆ จนมีสมาชิกและผู้ปฏิบัติงานเพิ่มจำนวนมาก ทั้งมีการขยายเครือข่ายไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ด้วย ในต้น ค.ศ. ๑๘๗๘ เวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* บุตรสาวของนายทหารซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มได้ยิงผู้บัญชาการตำรวจแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากไม่พอใจที่เขาสั่งลงโทษนักโทษการเมืองอย่างทารุณ การลั่นกระสุนมุ่งสังหารของซาซูลิชนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ดินและเสรีภาพ เพราะกลุ่มเริ่มหันมาใช้วิธีการรุนแรงและการก่อการร้ายซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างสมาชิก ที่ประชุมใหญ่ของกลุ่มที่เมืองโวโรเนซเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๘ สมาชิกส่วนใหญ่ที่สนับสนุนวิธีการรุนแรงและการก่อการร้ายเรียกชื่อว่ากลุ่มเจตจำนงประชาชน (People′s Will)* หรือนารอดนายาวอลยา (Narodnaya Volya) ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนแนวทางสันติด้วยการปลุกระดมเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหมู่ประชาชนเรียกชื่อว่ากลุ่มแบ่งแยกดำซึ่งมีเปลฮานอฟเป็นหัวหน้า

 อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๗๙ กลุ่มเจตจำนงประชาชนประสบความสำเร็จอย่างมากในการปฏิบัติงาน เพราะสามารถสังหารบุคคลสำคัญในวงงานรัฐบาลได้หลายคนและปฏิบัติการรุนแรงของกลุ่มก็เป็นที่หวาดผวากันทั่วไปในต้น ค.ศ. ๑๘๘๐ ยังมีการลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II)* ด้วยการลอบวางระเบิดห้องประชุมในพระราชวังแต่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ ณ ที่นั้นและมีผู้เสียชีวิต ๑๑ คนบาดเจ็บกว่า ๕๐ คน รัฐบาลจึงดำเนินการกวาดล้างและตามล่านักปฏิวัติอย่างเด็ดขาดทั้งควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดมากขึ้น นักปฏิวัติและผู้ที่ต้องสงสัยจำนวนมากถูกจับกุม หลายคนถูกประหารและบ้างถูกส่งไปทำงานหนักที่ไซบีเรีย เปลฮานอฟสามารถหนีออกนอกประเทศไปนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ได้ เขาเริ่มสนใจศึกษาแนวความคิดลัทธิมากซ์ซึ่งกำลังมีอิทธิพลในขบวนการสังคมนิยมยุโรปขณะนั้น ท้ายที่สุด เปลฮานอฟก็ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องเป็นไปตามกฎแห่งการพัฒนาทางสังคมตามแนวความคิดลัทธิมากซ์ รัสเซียไม่สามารถข้ามกฎแห่งประวัติศาสตร์เพื่อก้าวไปสู่สังคมนิยมแบบลัดขั้นตอนตามแนวความคิดของพวกนารอคนิคได้ รัสเซียต้องผ่านระบบทุนนิยมและมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นกองหน้าของการปฏิวัติโดยมีชาวนาเป็นกองหนุนใน ค.ศ. ๑๘๘๒ เปลฮานอฟจึงแปลแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* ผลงานชิ้นสำคัญของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* เผยแพร่และต่อมาก็แปล The Holy Family งานนิพนธ์ของฟรีดิช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* คู่คิดที่ใกล้ชิดของมากซ์ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ เปลฮานอฟร่วมกับแกนนำกลุ่มนักลัทธิมากซ์รัสเซียซึ่งประกอบด้วยเวรา ซาซูลิช อะเล็กซานเดอร์ โปรเตรซอฟ (Alexander Protresov)* เลฟ ดอยทช์ (Lev Deutsch) และปาเวล อัคเซลรอดจัดตั้ง “กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน” ซึ่งนับเป็นองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์องค์การแรกของรัสเซียขึ้น กลุ่มดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ลัทธิมากซ์ในขบวนการปฏิวัติรัสเซียและวางรากฐานทฤษฎีปฏิวัติให้แก่พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียในเวลาต่อมา ในปีเดียวกันนี้ เปลฮานอฟ ได้เขียนทฤษฎีการเมืองชิ้นสำคัญเรื่อง Socialism and Political Struggle ( ค.ศ. ๑๘๘๓) โดยวิพากษ์โจมตีแนวทางปฏิวัติของพวกนารอดนิคและชี้นำว่ารัสเซียต้องผ่านการปฏิวัติ ๒ ขั้นตอนตามแนวทางของมากซ์กล่าวคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี (bourgeois democratic revolution) โดยชนชั้นกรรมาชีพร่วมมือกับชนชั้นกระฎฺมพีโค่นล้มระบบอัตตาธิปไตยของซาร์ และการปฏิวัติสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพในการลุกฮือด้วยอาวุธโค่นอำนาจของชนชั้นกระฎุมพีไปสู่สังคมนิยม ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ เขายังเขียนทฤษฎีการเมืองเพื่อเสริมงานเขียนเล่มแรกในชื่อ Our Differences ทฤษฎีการเมืองทั้ง ๒ เรื่องชองเปลฮานอฟทำให้ลัทธิมากซ์รัสเซียมีความลุ่มลึกและโดดเด่นขึ้นทั้งส่งผลสะเทือนต่อขบวนการปฏิวัติรัสเซียเปลฮานอฟจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาลัทธิมากซ์รัสเซีย

 อย่างไรก็ตาม นักปฏิวัติรัสเซียในประเทศก็ไม่ได้ยอมรับลัทธิมากซ์อย่างสนิทใจและต่างก็โจมตีเปลฮานอฟว่าเป็นพวกนอกรีต อิทธิพลทางความคิดของเขาจึงมีไม่มากนักจนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ ๑๘๙๐ เมื่อเกิดทุพภิกขภัยหลายครั้งและระบบอุตสาหกรรมได้พัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัญญาชนสังคมนิยมจำนวนไม่น้อยจึงทันมาสนใจลัทธิมากซ์ งานเขียนชองเปลฮานอฟเรื่อง The Development of the Monistic View of History ( ค.ศ. ๑๘๙๔) และ Essays on the History of Materialism ( ค.ศ. ๑๘๙๖) ไม่เพียงจะทำให้เขาเป็นที่ยอมรับในกลุ่มนักสังคมนิยมยุโรปเท่านั้นแต่ยังทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มลัทธิมากซ์ขึ้นในรัสเซียและใช้งานทฤษฎีของเขา เป็นคู่มือศึกษาลัทธิมากซ์ด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* นักลัทธิมากซ์หนุ่มซึ่งหลบหนีจากไซบีเรียเดินทางมาร่วมงานกับเปลฮานอฟที่นครเจนีวา ทั้งสองร่วมกันจัดตั้งองค์การลัทธิมากซ์ขึ้นโดยเรียกชื่อว่า “สันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน” (League of the struggle for the Liberation of the Working Class) สันนิบาตดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการประสานลัทธิสังคมนิยมเข้ากับขบวนการกรรมกรและปลูกฝังแนวความคิดลัทธิมากซ์ให้แก่ปัญญาชนและกรรมกรในประเทศ และในเวลาอันสั้นก็เกิดกลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วประเทศซึ่งทำให้แนวความคิดนารอดนิคหมดอิทธิพลลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การเคลื่อนไหวปฏิวัติตามแนวความคิดลัทธิมากซ์กำลังก่อตัวและพัฒนาขึ้นในรัสเซีย แนวความคิดลัทธิมากซ์ของเอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* นักสังคมนิยมชาวเยอรมันเชื้อสายยิวก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อปัญญาชนรัสเซียจำนวนหนึ่งด้วย แบร์นชไตน์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งลัทธิแก้ (Father of Revisionism) สนับสนุนระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เน้นการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางรัฐสภาและกระบวนการเลือกตั้ง กลุ่มลัทธิมากซ์ที่เลนินและเปลฮานอฟเป็นผู้นำยังต้องต่อสู้ทำลายแนวทาง ของแบร์นชไตน์ด้วย

 ในต้น ค.ศ. ๑๘๙๘ ผู้แทนกลุ่มลัทธิมากซ์ต่าง ๆ รวม ๙ แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศได้จัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งแรกขึ้นที่เมืองมินสก์ (Minsk) ในเบโลรัสเซีย (Belorussia) และมีมติให้ใช้ชื่อพรรคอย่างเป็นทางการว่าพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย แต่ระหว่างการประชุม ตำรวจได้บุกเข้าจับกุมแกนนำส่วนใหญ่ได้แม้จะยังตั้งพรรคขึ้นไม่ได้แต่การประชุมครั้งนี้ก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของขบวนการปฏิวัติรัสเซียเพราะทำให้นักปฏิวัติเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งก่อตั้งพรรคปฏิวัติขึ้นให้สำเร็จเพื่อสร้างเอกภาพทางความคิดในขบวนการปฏิวัติและกำหนดแนวนโยบายปฏิวัติที่ชัดเจน เปลฮานอฟและโดยเฉพาะเลนินจึงพยายามผลักดันเรื่องการจัดตั้งพรรคขึ้นและใช้ Iskra วารสารใต้ดินที่จัดพิมพ์นอกประเทศเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่ายงานการเมืองภายในและนอกประเทศและสร้างนักปฏิวัติอาชีพขึ้น ในการจัดทำวารสารดังกล่าว นาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* คู่ชีวิตของเลนินทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกองบรรณาธิการและเป็นเลขานุการขององค์การนำนอกประเทศในการประสานงานกับองค์การภายในประเทศ

 ในกลาง ค.ศ. ๑๙๐๓ มีการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์และกรุงลอนดอนตามลำดับและสามารถก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นได้สำเร็จ แต่เมื่อมีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติของสมาชิกพรรค ที่ประชุมมีความคิดเห็นแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่สนับสนุนความคิดของเลนินที่ให้กลั่นกรองการรับสมาชิกซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่รวมทั้งเปลฮานอฟด้วยได้ชื่อว่า บอลเชวิค (Bolsheviks)* ส่วนกลุ่มที่สนับสนุนความคิดของ ยูลี มาร์ตอฟ (Yuli Martov)* ที่ต้องการเปิดกว้างในการรับสมาชิกได้ชื่อว่า เมนเชวิค (Mensheviks)* พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียจึงแบ่งออกเป็น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเปลฮานอฟพยายามประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างเลนินกับมาร์ตอฟ แต่ล้มเหลว เขาจึงหันมาสนับสนุนมาร์ตอฟแทน เปลฮานอฟ ซึ่งไม่ชอบเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* นักเขียนอิสระของ Iskra ยังเรียกร้องมาร์ตอฟไม่ให้รับข้อเขียนของตรอตสกีพิมพ์เผยแพร่ด้วย

 เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ รวมกับความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ในการปฏิวัติครั้งนี้ทฤษฎีการเมืองของเปลฮานอฟว่าด้วยการปฏิวัติของชนชั้นกระฎุมพีและชนชั้นกรรมาชีพได้รับการพิสูจน์ว่ามีข้อบกพร่องเพราะยิ่งชนชั้นกรรมาชีพผนึกกำลังกันเข้มแข็งมากขึ้นเท่าใด ชนชั้นกระฎุมพีก็หันไปสนับสนุนระบบอัตตาธิปไตยของซาร์มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ชาวนาซึ่งเปลฮานอฟเห็นว่าไม่ใช่พลังหลักของการเคลื่อนไหวปฏิวัติก็มีบทบาทสำคัญในการก่อจลาจลในเขตชนบทและหัวเมืองทั้งมีการรวมตัวจัดตั้งสหภาพแห่งชาวนารัสเซียทั้งมวล (All Russian Peasant′s Union) ขึ้นเพื่อกำหนดแนวนโยบายการเคลื่อนไหวร่วมกับสภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร (Soviet of Workers) เกียรติภูมิของเปลฮานอฟจึงตกตํ่าลงและเขาเริ่มหมดบทบาทในการชี้นำความคิดในขบวนการปฏิวัติ

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๙ เปลฮานอฟเริ่มเขียนงานทฤษฎีการเมืองชิ้นเอกเรื่อง History of Russian Social Thought แต่เขียนไม่จบ ขณะสิ้นชีวิตที่ฟินแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เปลฮานอฟเพิ่งเขียนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เท่านั้นแนวความคิดหลักของหนังสือที่เปลฮานอฟเสนอคือการวิเคราะห์รูปแบบสังคมรัสเซียที่เป็น “กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตะวันออก” (semi-oriental despotism) ที่ระบบการเมืองมีความเข้มแข็งและสามารถทำลายพลังการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบในสังคมได้ง่าย อำนาจรัฐจึงแข็งแกร่งและทุกชนชั้นในสังคมอ่อนแอ ดังนั้น ชนชั้นกรรมาชีพซึ่งยังไม่เข้มแข็งหากยึดอำนาจได้สำเร็จก็จะไม่สามารถปกป้องอำนาจรัฐใหม่ของตนได้ยาวนานและอาจกลายเป็นเหยื่อของอำนาจรัฐที่พวกเขาได้ร่วมสร้างขึ้นได้ด้วย เปลฮานอฟชี้แนะว่าการยึดอำนาจก่อนที่ชนชั้นกรรมาชีพเข้มแข็งจึงอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดและความหายนะ

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เปลฮานอฟสนับสนุนการเข้าสู่สงครามของรัสเซียและไม่เห็นด้วยกับเลนินและตรอตสกีในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม ในการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของนักสังคมนิยม (First Socialist International Conference) ระหว่างวันที่ ๕-๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่ซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) หมู่บ้านเล็ก ๆ บริเวณเทือกเขาสวิสซึ่งไม่ห่างจากเมืองเบิร์น (Berne) เท่าใดนัก เลนินและกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มสังคมนิยมปีกซ้ายเรียกร้องให้นักสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองและเสนอความคิดเรื่องการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ขึ้นแทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ซึ่งแตกสลายลงเปลฮานอฟไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวและเขาถูกเลนินวิพากษ์โจมตีอย่างรุนแรงว่าเป็นพวก “สังคมนิยมที่คลั่งชาติ”

 หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปี เปลฮานอฟเดินทางกลับรัสเซียหลังจากที่ใช้ชีวิตลี้ภัยในต่างแดนนานกว่า ๓๖ ปี เขายังคงยืนยันในความคิดเห็นว่ารัสเซียกำลังอยู่ในขั้นตอนแรกของการปฏิวัติชนชั้นกระฎุมพีและมีความจำเป็นที่ต้องยืนหยัดทำสงครามกับเยอรมนีต่อไป ความคิดเห็นดังกล่าวขัดแย้งกับความต้องการของประชาชนซึ่งต่างเบื่อหน่ายสงครามและปรารถนาสันติภาพ ทั้งขัดแย้งกับเลนินและกลุ่มบอลเชวิคที่เรียกร้องให้ยุติสงครามและไม่ให้สนับสนุนและร่วมมือกับรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* เป็นผู้นำ เปลฮานอฟจึงถูกโดดเดี่ยวทั้งจากบอลเชวิคและเมนเชวิคและไม่มีบทบาทใด ๆ ในสภาโซเวียต เขาสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลเพราะเห็นว่าเป็นรัฐบาลของชนชั้นกระฎุมพีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ทางการเมืองและสังคมแต่หลังการลุกฮือเดือนกรกฎาคมในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งมีอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* เป็นผู้นำคนใหม่ได้ปราบปรามฝ่ายปฏิวัติอย่างเด็ดขาดจนสภาโซเวียตหมดบทบาทและอิทธิพลลง เปลฮานอฟก็ถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาล

 เมื่อเลนินยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ เปลฮานอฟยังคงต่อต้านการยึดอำนาจของบอลเชวิคเพราะเห็นว่าการยึดอำนาจเกิดขึ้นก่อนเวลาและชนชั้นคนงานยังคงมีจำนวนน้อยและอ่อนแอจนไม่สามารถสร้างกลไกอำนาจรัฐของชนชั้นตนเพื่อปกครองชนชั้นอื่น ๆ ได้ เปลฮานอฟเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดโดยให้ความเห็นว่าชนชั้นคนงานยังคงห่างไกลจากความสามารถที่จะเรียนรู้การใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อชนชั้นตนและประเทศชาติ การยึดอำนาจก่อนกำหนดจะทำให้การปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมต้องหยุดชะงักลงและยังอาจนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นด้วยอย่างไรก็ตาม รัฐบาลโซเวียตก็สั่งห้ามเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของเปลฮานอฟและนำข้อเขียนของเปลฮานอฟ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่ขัดแย้งกับเลนินมาพิมพ์เผยแพร่เพื่อทำลายชื่อเสียงของเขา การกดดันทางการเมืองดังกล่าวทำให้คู่ชีวิตของเปลฮานอฟตัดสินใจพาเขาซึ่งล้มป่วยด้วยวัณโรคเดินทางไปพักฟื้นที่เมืองเทริโยคิ (Terijoki) ฟินแลนด์ [ปัจจุบันคือเซเลโนกอรสค์ (Zelenogorsk) รัสเซีย] ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๗ เปลฮานอพ์เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รวมอายุได้ ๖๒ ปี อีก ๒-๓ ปีต่อมา ศพของเขาถูกนำกลับมาฝังไว้ที่สุสานวอลโคโว (Volkovo) ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd)

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๒๐ รัฐบาลโซเวียตสนับสนุนโกซิซดัต (Gosizdat) หรือโรงพิมพ์แห่งรัฐ (state Publishing House) ให้นำงานเขียนของปัญญาชนปฏิวัติและผู้นำพรรคบอลเชวิคมาจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมากและมีราคาถูกเพื่อปลูกฝังแนวความคิดทางการเมืองแก่ประชาชน เลนินให้นำงานนิพนธ์ของเปลฮานอฟระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๐๓ มาคัดสรรและจัดพิมพ์ ทั้งให้จัดตั้งห้องสมุดเปลฮานอฟ (Plekhanov House) ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดแห่งชาติรัสเซีย (Russian National Library) ในกรุงเปโตรกราดเพื่อเป็นเกียรติและอนุสรณ์แก่เขา โรซาเลีย เปลฮานอฟ-โอกราด (Rosalia Plekhanov-Ograd) ภริยาม่ายของเปลฮานอฟเป็นผู้รับผิดชอบคนสำคัญในการคัดเลือกและรวบรวมเอกสารรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ของเปลฮานอฟเพื่อจัดตั้งเป็นห้องสมุดซึ่งเริ่มเปิดให้บริการใน ค.ศ. ๑๙๒๕ นอกจากนี้ยังมีการนำชื่อเปลฮานอฟมาเป็นชื่อสถาบันวิชาการด้วยคือสถาบัน G. V. Plekhanov Soviet Academy of Economics และสถาบัน G. V. Plekhanov St. Petersburg state Mining Institute.



คำตั้ง
Plekhanov, Georgi Valentinovich
คำเทียบ
นายเกออร์กี วาเลนติโนวิช เปลฮานอฟ
คำสำคัญ
- กลุ่มเจตจำนงประชาชน
- กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ
- กลุ่มแบ่งแยกดำ
- กลุ่มปลดปล่อยแรงงาน
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกระฎุมพี
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การลุกฮือเดือนกรกฎาคม
- ครุปสกายา, นาเดจดา
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- ซาซูลิช, เวรา
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เซเลโนกอรสค์
- ดอยทช์, เลฟ
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์คอมมิวนิสต์
- นารอดนายาวอลยา
- นารอดนิค
- บอลเชวิค
- แบร์นชไตน์, เอดูอาร์ด
- เปรอฟสกายา, โซเฟีย
- เปลฮานอฟ, เกออร์กี วาเลนติโนวิช
- เปลฮานอฟ-โอกราด, โรซาเลีย
- โปรเตรซอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- มากซ์, คาร์ล
- มาร์ตอฟ, ยูลี
- เมนเชวิค
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง
- ลวอฟ, เจ้าชายเกรกอรี
- ลัทธิแก้
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสังคมนิยม
- วันฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาโซเวียตผู้แทนกรรมกร
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหภาพแห่งชาวนารัสเซียทั้งมวล
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- อัคเซลรอด, ปาเวล โบรีโซวิช
- เฮอร์เซน, อะเล็กซานเดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1856-1918
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๖๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-